[[{“value”:”
วัดโคธาราม
ประวัติหลวงพ่อฟ้าลั่น วัดโคธาราม
บ้านโนนสว่าง หมู่ 7 ตำบลจำปาโมง อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี
ย้อนไปเมื่อ 479 ปี บ้านเมืองพานในสมัยก่อนนั้นมีพระภิกษุรูปหนึ่งนามว่า ลืมบอง หรือ ญาครูขี้หอม
ท่านเกิดที่เมืองพานซึ่งในปัจจุบันคือ บ้านกาลึม ต.เมืองพาน อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี ท่านได้อุปสมบทที่เมืองเวียงจันทน์ ประเทศลาว จากนั้นได้กลับมาจำพรรษาที่บ้านเกิด ครั้งหนึ่งท่านได้ข้ามไปฝั่งลาว แล้วพักจำวัดในวัดแห่งหนึ่งซึ่งเป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราชแห่งประเทศลาว ในคืนนั้นสมเด็จพระสังฆราชได้ทรงนิมิต(ฝัน) เห็นช้างเผือกได้เข้ามาในวัดแล้วทำลายตู้พระไตปิฎกเสียหายจนหมดสิ้น เมื่อสมเด็จทรงตื่นก็ได้ทบทวนพิจารณาถึงนิมิตอันน่าอัศจรรย์ ก็ให้นึกถึงพระภิกษุที่มาจากฝั่งไทย สมเด็จท่านทรงเฝ้าดูพฤติกรรมพระภิกษุลึมบอง จนในที่สุดไม่ปรากฏข้อปฏิบัติที่ไม่ดีเลย ท่านสำรวมใฝ่ศึกษาและปฏิบัติจนเป็นที่เคารพเลื่อมใสของหมู่พระสงฆ์และชาวบ้าน ท่านศึกษาอยู่ในประเทศลาวเป็นเวลานานจนได้รับการสถาปนาให้เป็นสมเด็จพระสังฆราชประเทศลาว ในปี พุทธศักราช 2063 ท่านได้เสด็จกลับเมืองพาน ในบ้านลึมบองเมืองพานฯ มีท่านชีผ้าขาวผู้เคร่งครัดในทางปฏิบัติได้ปักกลดปฏิบัติกัมมัฎฐานอยู่ ท่านชีผ้าขาวท่านนี้นามว่า บุญมี ท่านได้อาราธนานิมนต์สมเด็จฯ ให้มาดูวัดร้างพร้อมปักกลดปฏิบัติธรรมเจริญกัมมัฎฐานอยู่ที่วัดแห่งนี้ 7 วันพอสิ้นวันที่ 7 สังฆราชก็ให้ชีผ้าขาวนั่งทางใน อธิษฐานเพื่อขอสร้างพระพุทธรูป ดังนั้นการสร้างพระพุทธรูปจึงเริ่มขึ้น เมื่อวันพุธ ขึ้น 7 ค่ำ เดือน 7 ปี พุทธศักราช 2063 โดยสมเด็จพระสังฆราชเป็นประธาน ในการก่อสร้างเป็นไปด้วยความยากลำบาก ชาวบ้านต้องเดินจากหมู่บ้านมาสถานที่ก่อสร้าง แล้วก็มาขุดดินและปั้นดินเพื่อเผาแล้วจึงนำมาก่อสร้าง สิ่งที่น่าอัศจรรย์คือ ในขณะที่ชาวบ้านก่อพระพุทธรูปจวนจะเสร็จได้เกิดฟ้าคะนองฝนตกทำให้การก่อสร้างชะงักลง ทั้งมีฝนตกทั้งๆที่ไม่ใช่ฤดูฝน ทำให้ปูนขาวกับยางบงไม่แห้ง สมเด็จสังฆราชเห็นความอัศจรรย์จึงได้ตั้งสัจจ์อธิษฐานว่า ถ้าพระพุทธรูปนี้จะมีความศักดิ์สิทธิ์เป็นที่พึ่งที่เคารพบูชาในภายภาคหน้าขอให้ข้าพเจ้าพร้อมด้วยคณะก่อสร้างแล้วเสร็จโดยเร็ว อย่าได้มีอุปสรรค และขอให้ฝนหยุดตก แล้ว จะเรียกชื่อพระพุทธรูปองค์นี้ว่า หลวงพ่อฟ้าลั่น พอสิ้นคำอธิษฐาน ฝนที่ตกอยู่ก็หยุดลงทันที คณะชาวบ้านจึงก่อสร้างพุทธรูปจนแล้วเสร็จสมบูรณ์ เมื่อ วันพุธ ขึ้น 7 ค่ำ เดือน 9 พุทธศักราช 2065 รวมก่อสร้างเป็นเวลา 2 ปี 2 เดือน สมเด็จจึงได้ตั้วชื่อพระพุทธรูปนั้นว่า หลวงพ่อฟ้าลั่น ตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน ปัจจุบันชาวบ้านยังถือปฏิบัติต่อหลวงปู่ฟ้าลั่นมิได้ขาดคือเมื่อถึงเดือนหก ชาวบ้านจะร่วมกันทำบุญบั้งไฟเพื่อเป็นการจุดบูชาหลวงพ่อฟ้าลั่น เพราะเชื่อว่าในเมื่อได้บูชาบั้งไฟแก่หลวงพ่อฟ้าลั่นแล้วหลวงพ่อฯจะบันดาลฝนมาให้ชาวบ้านได้ทำนากัน ความเชื่อนี้ได้กลายเป็นประเพณีให้ชาวบ้าน ได้ถือปฏิบัติกันมาจนถึงปัจจุบัน หลวงพ่อฟ้าลั่นมีอายุได้ 479 ปี และยังคงความอัศจรรย์และศักดิ์สิทธิ์เป็นที่สักการะบูชาของชาวบ้านและมหาชนโดยทั่วไป
The post วัดโคธาราม appeared first on จำปาโมง.ไทย.
“}]]